เกี่ยวกับเรา
โครงการพัฒนาระบบฝึกอบรมการติดตามประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนา
ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เนต (e-Learning)
************************
1. ความเป็นมา
สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเป้าประสงค์หลักในการขยายโอกาสและพัฒนาศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะ โดยเปิดโอกาสให้กับภาคีรายย่อยระดับชุมชน ได้แก่ กลุ่มบุคคล ชุมชนและองค์กรทั่วไป ดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาของชุมชนหรือพื้นที่
ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ทางสำนัก 6 ได้ออกแบบการดำเนินงานไว้ดังนี้ (1) กำหนดช่องทางและรูปแบบการสนับสนุนทุน 4 ช่องทาง ได้แก่ โครงการสร้างเสริมสุขภาพทั่วไป โครงการสร้างเสริมสุขภาพประเด็นเฉพาะ โครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก และโครงการประเภทกิจกรรมอย่างง่าย โดยในแต่ละปีจะมีการสนับสนุนภาคีรายย่อยเพื่อดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพทั้ง 4 ช่องทางประมาณปีละ 1,800 โครงการ โดยมีการกระจายครอบคลุมในทุกจังหวัดทั่วประเทศ (2) การค้นหาและพัฒนาภาคีที่มีความตั้งใจ มุ่งมั่น เข้ามาช่วยทำหน้าที่เป็น “หน่วยจัดการร่วมกับ สสส. ในระดับพื้นที่ (node)” ในการพัฒนาโครงการ กำกับติดตามและช่วยเสริมพลัง (Empower) ในการดำเนินงานของภาคีรายย่อยในชุมชน ซึ่งในปัจจุบันทางสำนัก 6 มีหน่วยจัดการแล้วกว่า 70 หน่วย จำนวนประมาณ 500 คน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “หน่วยจัดการร่วมกับ สสส. ในระดับพื้นที่ (node)” เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมการดำเนินงานของภาคีรายย่อยให้สามารถดำเนินงานได้บรรลุตามเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้ทางสำนัก 6 จึงได้จัดให้มีการพัฒนาศักยภาพแก่หน่วยจัดการเรื่องการติดตามและประเมินผลเชิงผลลัพธ์ ในลักษณะของการอบรมเชิงปฏิบัติการระยะเวลา 3 วัน โดยที่ผ่านมามีการจัดอบรมไปแล้ว จำนวน 7 รุ่น รวมจำนวนประมาณ 200 คน ซึ่งจากการอบรมทั้ง 7 รุ่นที่ผ่านมาทางสำนัก 6 ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร “การติดตามประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา” ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของหน่วยจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ทางสำนัก 6 จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาระบบการฝึกอบรมการติดตามประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของ e-learning เพื่อให้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการกระจายและเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างกว้างขวางโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา สถานที่และงบประมาณ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของหน่วยจัดการในด้านการติดตามประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาสำหรับการดำเนินงานต่อไป
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อพัฒนาระบบฝึกอบรมการติดตามประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาผ่านเครือข่าย
อินเตอร์เนต (e-learning) สำหรับหน่วยจัดการ (node) ของสำนัก 6 ที่สามารถเข้าถึงข้อมูล
ความรู้ได้ง่ายโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาและสถานที่
3. กลุ่มเป้าหมาย
3.1 ภาคีที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยจัดการร่วมกับ สสส. ในระดับพื้นที่ จำนวนประมาณ 500 คน
3.2 ภาคีที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มจะมาทำหน้าที่เป็นหน่วยจัดการร่วมกับ สสส. ในระดับพื้นที่
จำนวนประมาณ 100 คน
Social networks